มารู้จักสินเชื่อแต่ละแบบกันเถอะ

ในทุก ๆ ครอบครัวส่วนใหญ่มักจะมีสินเชื่ออย่างน้อย 1-2 ประเภท เราอาจจะเคยสงสัยว่าแล้วสินเชื่อแต่ละประเภทต่างกันอย่างไร เราจึงจะมาอธิบายในบทความนี้กัน

สินเชื่อสามารถแบ่งได้หลายแบบ โดยหลัก ๆ แล้วจะจำแนกได้ดังนี้

1.แบ่งตามระยะเวลากู้

สินเชื่อระยะสั้น (Short-Term Loan) อายุไม่เกิน 1 ปี เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อการค้า

สินเชื่อระยะกลาง (Medium-Term Loan/Credit) อายุ 1-5 ปี เช่น การผ่อนส่งการซื้อสินค้าคงทน (รถยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้า)

สินเชื่อระยะยาว (Long-Term Loan/Credit) อายุเกิน 5 ปีขึ้นไป เช่น บ้าน, ที่ดิน, โรงงาน

2.แบ่งตามวัตถุประสงค์

สินเชื่อเพื่อการบริโภค เช่น บัตรเครดิต, การผ่อนเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือรถยนต์

สินเชื่อเพื่อการลงทุน เพื่อการจัดหาปัจจัยการผลิตหรือสินทรัพย์ถาวรต่าง ๆ เพื่อใช้ในการดำเนินการผลิต

สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์หรือสินเชื่อการค้า โดยทั่วไปเป็นสินเชื่อเพื่อการซื้อขายสินค้าประเภทวัตถุดิบ หรือการซื้อสินค้ามาจำหน่ายต่อ เป็นการรับสินค้ามาก่อน แล้วค่อยชำระค่าสินค้าภายหลังโดยทั่วไปจะเป็นสินเชื่อระยะสั้น

3.แบ่งตามผู้ขอรับสินเชื่อ

สินเชื่อสำหรับบุคคล มักเป็นสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค

สินเชื่อสำหรับธุรกิจ มักจะนำไปใช้เพื่อลงทุนเพื่อการผลิตหรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน

สินเชื่อสำหรับรัฐบาล เช่น พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และพันธบัตรรัฐบาลรูปแบบต่าง ๆ

4.แบ่งตามผู้ให้สินเชื่อ

บุคคลเป็นผู้ให้ เช่น การให้กู้ยืมในหมู่คนรู้จัก ญาติพี่น้อง หรือการปล่อยกู้นอกระบบ เป็นต้น

สถาบันการเงินเป็นผู้ให้ เช่น ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามและสหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นต้น

หน่วยงานอื่น ๆ เป็นผู้ให้ เช่น มูลนิธิ องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร หน่วยงานการกุศล และกองทุนต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน เป็นต้น

5.แบ่งตามหลักประกัน

สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ส่วนใหญ่แล้วดอกเบี้ยจะสูงกว่า เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ผิดสัญญาสูงกว่า

สินเชื่อที่มีหลักประกัน โดยหลักประกันดังกล่าวอาจอยู่ในรูปของอสังหาริมทรัพย์ เช่น การจำนองที่ดิน สังหาริมทรัพย์ เช่น พันธบัตร ทองคำ หรืออยู่ในรูปของการค้ำประกันจากบุคคลหรือสถาบันการเงิน (อาวัล) ก็ได้